“เกลียดปลาไหล กินน้ำแกง” หลายท่านอาจจะเคยได้ยินสำนวนไทยเหล่านี้ที่คุ้นหูกันมาบ้าง ซึ่งเป็นคำเปรียบเปรยของคนโบราณมาจากเมนูอาหารใช้สำหรับอาการไม่ชอบอย่างใดอย่างหนึ่งแต่ก็ยังทานอย่างอื่นที่อยู่ในจานนั้น ปัจจุบันแม้คนไทยส่วนใหญ่จะไม่ชอบทานปลาไหลไทยสักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับเมนูปลาไหลย่างของญี่ปุ่น อาจจะเพราะด้วยรสชาติหรือค่านิยมความเชื่อที่ซื้อเพื่อนำไปปล่อยแก้เคล็ดมากกว่านั้น แต่เรายังสามารถเห็นเมนูปลาไหลได้ตามร้านอาหารป่า หรือครอบครัวท้องถิ่น ความจริงนั้น “เมนูแกงปลาไหลใส่กัญชา” เป็นอีกเมนูหนึ่งที่สมัยก่อนไม่ใช่แค่เมนูท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังได้รับความนิยมในสำรับ เราจึงได้หยิบยกตำรับแม่ครัวหัวป่าก์ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ตำราอาหารโบราณสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นต้นตำรับแรกที่นำใบกัญชามาใส่แกงปลาไหล ด้วยกระแสอาหารใส่ใบกัญชาที่ช่วงนี้มาแรง ทางชิมไทยก็ไม่พลาดที่จะทำเมนูมานำเสนอและมีการปรับสูตรวัตถุดิบและวิธีทำเล็กน้อย ตามแบบฉบับชิมไทย
ส่วนผสมพริกแกง ( ตำพริกแกงให้ละเอียด )
- พริกแห้ง 37.50 กรัม
- ตะไคร้ 7.50 กรัม
- ข่า 1.89 กรัม
- เกลือ 1.89 กรัม
- กระเทียม 15.00 กรัม
- หอมแดง 22.50 กรัม
- ผิวมะกรูด 1.89 กรัม
- รากผักชี 3.75 กรัม
- กะปิ 15.00 กรัม
- กระชาย 3.75 กรัม
- ลูกยี่หร่า 3.75 กรัม
ส่วนผสมของวัตถุดิบและเครื่องปรุง
- เนื้อปลาไหลหั่นขวาง 300 กรัม
- ยอดมะพร้าวอ่อนหั่นชิ้น 50 กรัม
- กล้วยไข่ดิบหั่น 50 กรัม
- หัวกะทิ 180 กรัม
- น้ำเปล่า 500 กรัม
- น้ำเคย (น้ำกะปิกุ้งเคยอย่างดี) 30 กรัม
- น้ำตาลโตนด 8 กรัม
- พริกอ่อน 20 กรัม
- กระชายซอย 15 กรัม
- ใบมะกรูด 2 กรัม
- ใบโหระพา 20 กรัม
- ใบกะเพรา 20 กรัม
- ใบกัญชาอ่อน 3 ใบ
- ลูกยี่หราคั่วบดหยาบ 2 กรัม
วัตถุดิบสำหรับลวกปลาไหล
- ข่า 15 กรัม
- ตะไคร้ 15 กรัม
- ใบมะกรูด 5 ใบ
- น้ำเปล่า 1 ลิตร
วิธีทำ
- นำเครื่องพริกแกงที่เตรียมมาโขลกให้เข้ากันจนละเอียด ตักใส่ถ้วยเตรียมไว้
- นำปลาไหลไปถูกับแกลบ , ใบไม้คม (ใบข่อย) หรือเกลือ รูดตัวปลาไหลจนตัวปลาสะอาด ล้างน้ำออกให้ไม่มีเมือก
- หั่นเนื้อปลาไหลแนวขวางเป็นชิ้นขนาดพอดีเตรียมไว้
- เทน้ำเปล่าสำหรับลวกปลาไหลใส่หม้อตามด้วย ข่า ตะไคร้ทุบพอบุบแตกและใบมะกรูดฉีก ใส่ลงหม้อตั้งไฟให้น้ำร้อนจนเดือด ส่งกลิ่นหอมเครื่องสมุนไพร
- พอน้ำร้อนเดือดได้ที่ ให้ใส่เนื้อปลาไหลลงในหม้อ โดยไม่ต้องคน ใช้ทัพพีกดเนื้อปลาไหลให้จมน้ำเล็กน้อย รอให้เนื้อปลาไหลสุกพอดี แล้วจึงใช้ตะแกรงช้อนขึ้นมาพักไว้ ขั้นตอนนี้จะช่วยดับกลิ่นคาวของปลาไหลได้ดีขึ้น
- เทน้ำหัวกะทิลงหม้อตั้งไฟเคี่ยวจนแตกมัน
- เอาพริกแกงที่ตำเตรียมไว้มาผัดกับกะทิจนส่งกลิ่นหอม
- ใส่น้ำเคยดีเพิ่มรสเค็มและกลิ่นหอม ตามด้วยเนื้อปลาไหลที่ลวก กล้วยดิบและยอดมะพร้าวคลุกเล็กน้อยให้ทั่วกันแล้วเติมน้ำเปล่า รอให้น้ำเดือด
- ตัดรสด้วยน้ำตาลโตนดเล็กน้อยแล้วชิมรส (สามารถเติมรสเค็ม หวานเพิ่มได้ตามที่ชอบ)
- โรยด้วยพริกอ่อนหั่น กระชายซอย ใบมะกรูดฉีก ใบกะเพราและใบโหระพา ลูกยี่หร่าคั่วบด ลงหม้อคลุกเคล้าให้เข้ากัน และใส่ใบกัญชาปิดท้าย
- ตักใส่ชามพร้อมเสิร์ฟ
นอกจากเครื่องพริกแกงโขลกที่ใส่เครื่องเทศมากมายแล้วในสูตรนี้ยังตัดรสเพิ่มความเค็มหอมอร่อยด้วยน้ำเคยอย่างดีจากจังหวัดระนอง น้ำตาลโตนดที่ช่วยให้รสเข้มนวลกลมกล่อม สมุนไพรทั้งใบกะเพรา ใบโหระพา พริกอ่อนและกระชาย ทางชิมไทยยังเพิ่มความหอมด้วยการโรยลูกยี่หร่าคั่วบด เพื่อเพิ่มกลิ่นหอมความเผ็ดร้อนและช่วยดับกลิ่นคาวของปลาไหลได้ดี ปิดท้ายด้วบใบกัญชาเพื่อชูรสชาติของอาหารให้อร่อยมากขึ้น และเพิ่มอรรถรสในการรับประทานค่ะ
ดาราทอง / Food Editor
นาฎนรินทร์ อภัยวงค์ (จูน)
ผู้หญิงที่ใครได้คุยด้วยจะต้องหลงรัก รอยยิ้มและเสียงหัวเราะคือเสน่ห์ที่ไม่มีใครเหมือน ชื่นชอบการเสาะแสวงหาอาหารสตรีทตามตรอกซอกซอย หรือ Local Food ทั่วประเทศไทย เรียกได้ว่าเธอไปมาหมดแล้วในประเทศไทย